อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Love Distancing นิทรรศการศิลปะ (NFT) สำหรับการเว้นระยะห่างๆ อย่างห่วงๆ ในโลกเสมือนจริงLove Distancing
นิทรรศการศิลปะ (NFT) สำหรับการเว้นระยะ
ห่างๆ อย่างห่วงๆ ในโลกเสมือนจริง
ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในบ้านเราที่ยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานธุรกิจ ร้านค้า หรือสถานที่ให้บริการต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเปิดทำการตามปกติแล้ว ยังลุกลามไปถึงองค์กรทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพื้นที่แสดงงานศิลปะต่างๆ จนไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ตามปกติเช่นกัน
ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากเช่นนี้ องค์กรทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกเลือกใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารอันล้ำสมัยและไร้พรมแดน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง facebook, instagram ฯลฯ หรือเปิดช่องทางชมงานออนไลน์ให้ผู้ชมเข้าไปดูภาพผลงานศิลปะผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสารอย่างคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือแท็บเล็ตได้อย่างสะดวกสบาย
บางแห่งก็เลือกที่จะใช้เทคโนโลยี VR (Virtual reality) หรือระบบความเป็นจริงเสมือนที่ใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพแวดล้อมของพื้นที่แสดงงานศิลปะแบบเสมือนจริงให้ผู้ชมได้เข้าไปดูชมกันในโลกออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าออกนอกบ้านเลยด้วยซ้ำไป
จากสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้หอศิลป์และพื้นที่ทางศิลปะในบ้านเราหันมาใช้เทคโนโลยี VR สร้างพื้นที่ชมงานศิลปะแบบเสมือนจริงให้เข้าไปชมกันมากขึ้น
ด้วยความที่ตัวเราเองก็ไม่สามารถออกไปดูงานศิลปะในพื้นที่แสดงงานได้ตามปกติ ในช่วงนี้ก็ต้องอาศัยช่องทางเหล่านี้ในการชมงานเช่นกัน
ล่าสุดเราได้ดูงานนิทรรศการเสมือนจริงทางออนไลน์ที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย
นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า Love Distancing
โดย วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ในนิทรรศการครั้งนี้ วสันต์ทำผลงานศิลปะที่สะท้อนวิกฤตโรคระบาดด้วยสีสันฉูดฉาดจัดจ้านในสไตล์เสียดสีตีแผ่สังคมอย่างเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นเคย
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ผลงานทั้งหมดของนิทรรศการครั้งนี้ มีผลงานเพียงไม่กี่ชิ้นที่ศิลปินวาดขึ้นบนผืนผ้าใบจริงๆ ส่วนที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นผลงานศิลปะดิจิตอลที่วสันต์วาดขึ้นด้วยแอพพลิเคชั่นในแท็บเล็ตของเขาทั้งสิ้น
วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ Palette Artspace และภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการศิลปะเสมือนจริงในครั้งนี้ว่า
“จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ VR ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ผมพบว่าในช่วงเวลานี้บ้านเรากำลังเจอสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งละแวกพื้นที่ตั้งของหอศิลป์ในทองหล่อเองก็เป็นจุดเริ่มต้นการระบาดใหม่อีกแห่ง ทำให้เราไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาชมงานได้ชั่วคราว เราก็เลยพยายามหาทางรับมือกับสถานการณ์ในครั้งนี้ด้วยการทำนิทรรศการเสมือนจริงขึ้นมา”
“ประจวบกับในช่วงนั้นผมได้เจอกับอาจารย์วสันต์ สิทธิเขตต์พอดี คือก่อนหน้านี้ผมเคยเห็นอาจารย์วาดรูปบนไอแพ็ดมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เอาไปแสดงที่ไหน ผมประหลาดใจว่าคนอายุขนาดนี้ยังตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ทันด้วย เลยถามเขาว่าทำไมอาจารย์ถึงหันมาวาดรูปในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบนี้”
“อาจารย์ก็หัวเราะแล้วตอบว่า เขาชอบเรียนรู้และทดลองอะไรใหม่ๆ ผมสนใจในสิ่งที่อาจารย์ทำ ก็เลยชวนมาทำอะไรใหม่ๆ อย่างการแสดงงานในหอศิลป์ VR ในครั้งนี้กัน” เราสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้